แมลงศรัตรูพืช (Insect pest)

แมลงศัตรูพืช หมายถึง สัตว์ที่มีลำตัวเป็นปล้อง (Arthropods) จัดอยู่ในชั้น (class) Insecta ประกอบด้วยสัตว์ประมาณ 26 อันดับ (order) ซึ่งสัตว์เหล่านี้ได้ก่อความเสียหายแก่พืชเพาะปลูก แมลงเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ลำตัวแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนศรีษะ (head) อก (thorax) และท้อง (abdomen) ซึ่งบนส่วนอกมี 3 ปล้อง ซึ่งแต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนท้องมี 8-11 ปล้อง แมลงมีผนังหุ้มลำตัวแข็ง (exoskeleton) ดังนั้นการเจริญเติบโตของแมลงจึงต้องอาศัยการลอกคราบ (molting) การจำแนกชนิดของแมลงที่ถูกต้องจะแบ่งตามหลักการอนุกรมวิธานโดยนักกีฏวิทยา (entomologist) แต่ในที่นี้จะขอแบ่งชนิดของแมลงศัตรูพืชออกตามลักษณะของการทำลายดังนี้

แมลงศัตรูพืชจำพวกกัดกินใบ (leaf feeder) ได้แก่ หนอนผีเสื้อ ตั๊กแตน ด้วงปีกแข็ง แมลงศัตรูพืชพวกนี้มีปากแบบกัดกิน (chewing) สามารถกัดกินใบทั้งหมด หรือกัดกินเฉพาะตัวใบแล้วเหลือเส้นใบไว้ ทำให้พืชขาดส่วนสังเคราะห์แสง หรือขาดที่สะสมอาหาร หรือขาดยอดอ่อนสำหรับการเจริญเติบโตต่อไป

แมลงศัตรูพืชจำพวกดูดกินน้ำเลี้ยง (juice sucker) ได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั๊กจั่น และมวนต่าง ๆ แมลงศัตรูพืชจำพวกนี้มีปากแบบดูด (sucking) สามารถแทงและดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ยอดอ่อน กิ่ง ลำต้น ดอก หรือ ผล ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชที่ถูกดูดกินน้ำเลี้ยงมีรอยไหม้ ใบม้วนเหี่ยว ไม่เจริญเติบโต หรือแคระแกร็น และนอกจากนี้แมลงจำพวกนี้ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการถ่ายทอดและแพร่กระจายโรคพืชที่มีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุอีกด้วย

แมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนชอนใบ (leaf minor) ได้แก่ หนอนผีเสื้อ หนอนแมลงวันบางชนิด แมลงศัตรูพืชจำพวกนี้มักมีขนาดเล็ก กัดกินเนื้อเยื่ออยู่ระหว่างผิวใบพืช ทำให้พืชขาดส่วนสังเคราะห์แสงหรือขาดส่วนสะสมอาหาร

แมลงศัตรูพืชจำพวกหนอนเจาะลำต้น (stem borer) ได้แก่ หนอนด้วง หนอนผีเสื้อ และปลวก แมลงศัตรูพืชจำพวกนี้มักวางไข่ตามใบหรือเปลือกไม้ เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวหนอนก็จะชอนไชเข้าไปอยู่ในกิ่ง ลำต้น หรือผล ทำให้ต้นพืชขาดน้ำและอาหารแล้วแห้งตายไป หรือทำให้ผลไม้เน่า, หล่น เสียหาย

แมลงศัตรูพืชจำพวกกัดกินราก (root feeder) ได้แก่ ด้วงดีด จิ้งหรีด แมลงกระชอน ด้วงดิน ด้วงงวง แมลงศัตรูพืชจำพวกนี้มีปากแบบกัดกิน มักมีชีวิตหรือวางไข่ตามพื้นดิน ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายรากพืช ทั้งทำให้พืชยืนต้นแห้งตายเนื่องจากขาดน้ำและอาหาร

แมลงศัตรูพืชจำพวกที่ทำให้เกิดปุ่มปม (gall maker) ได้แก่ ต่อ แตน และเพลี้ย แมลงศัตรูพืชจำพวกนี้เมื่อกัดกิน, ดูดน้ำเลี้ยงหรือวางไข่บนพืชแล้ว มักจะปลดปล่อยสารบางชนิดลงบนพืช ทำให้เกิดอาการปุ่มปมผิดปกติบนส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ดอก ใบ ยอดอ่อน ราก และลำต้น

 

 

แมลงศัตรูธรรมชาติ หมายถึง แมลงที่เป็นประโยชน์และมีบทบาทในการควบคุมแมลงศัตรูพืช (Insect pest) โดยชีววิธีและเป็นปัจจัยทางชีวภาพ (Biotic factor) ที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมลงศัตรูพืชให้อยู่ในสภาพสมดุลตามธรรมชาติ (Natural balance) ซึ่งแมลงศัตรูธรรมชาติในที่นี้ หมายถึงแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) 

แมลงตัวหํ้าและแมลงตัวเบียน แม้ว่าแมลงจะมีการสืบพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถแพร่พันธุ์เพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว แต่แมลงก็มีศัตรูธรรมชาติมากมายที่คอยควบคุมประชากรของแมลงให้อยู่ในสมดุล ศัตรูธรรมชาติของแมลงได้แก่ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อแมลง และอีกอย่างที่สำคัญก็คือแมลงด้วยกันเอง แมลงหลายชนิดที่กินหรืออาศัยอยู่ภายในหรือภายนอกตัวของแมลงชนิดอื่น แมลงเหล่านี้เรียกว่า ตัวหํ้าและตัวเบียน ซึ่งปกติแล้วจะมีอยู่จำนวนมากพอที่จะควบคุมจำนวนประชากรของแมลงชนิดหนึ่ง ๆ ให้อยู่ในสมดุล คือไม่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้ทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ไปมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม คือ ไปรบกวน เปลี่ยนแปลงสภาพถิ่นที่อยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของแมลงจนทำให้แมลงตัวหํ้า และตัวเบียนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะกำจัดแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันได้มีการช่วยเพิ่มปริมาณแมลงตัวหํ้าและตัวเบียน เช่น การเพาะเลี้ยงแมลงเหล่านี้แล้วนำไปปลดปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เรียกวิธีการนี้ว่า การป้องกันกำจัดแมลงแบบชีววิธี (Biological Control) ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

 

แมลงตัวหํ้า (Predators) หมายถึง แมลงที่ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงที่เป็นเหยื่อ (Prey) ชนิดเดียวกันเป็นอาหาร แมลงตัวหํ้าจะมีลักษณะที่สำคัญต่างจากแมลงตัวเบียน คือ

ส่วนมากมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าเหยื่อที่ใช้เป็นอาหาร 

มักจะกินเหยื่อโดยการกัดกินตัวเหยื่อตายทันที 

ตัวหํ้าหนึ่งตัวจะกินเหยื่อมากกว่า 1 ตัวในแต่ละมื้ออาหาร ดังนั้นจึงกินเหยื่อได้หลายตัวตลอดช่วงชีวิตการเจริญเติบโตของมัน

ตัวหํ้าจะอาศัยอยู่คนละที่กับแมลงที่เป็นเหยื่อ และออกหาอาหารในที่ต่างๆ กันในแต่ละมื้อ

 

 

แมลงตัวเบียน (Parasites) หมายถึง แมลงที่พัฒนาการเจริญเติบโตระยะไข่ ระยะตัวหนอน ในแมลงอาศัย (Host) 1 ตัวและอาจจะเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกแมลงอาศัย ตัวเต็มวัยกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหารแมลงตัวเบียนมีลักษณะที่แตกต่างจากแมลงตัวหํ้า คือ

อาศัยกินอยู่ภายนอกหรือภายในตัวเหยื่อตลอดวงจรชีวิต หรืออย่างน้อยก็ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต 

ตัวเบียนจะมีขนาดเล็กกว่าเหยื่อมาก ส่วนใหญ่เหยื่อหนึ่งตัวจะมีตัวเบียนอาศัยอยู่มากกว่า 1 ตัว

ตัวเบียนจะค่อยๆ ดูดกินอาหารจากเหยื่ออย่างช้าๆ และทำให้เหยื่อตาย เมื่อตัวเบียนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว

 

 

ระดับของความเสียหายเนื่องจากศัตรูพืช

แนวทางในการจัดการเพื่อป้องกันควบคุมและกำจัดศัตรูพืชได้คำนึงถึงระดับของความเสียหายเนื่องจากศัตรูพืชไว้ 3 ระดับ

1) ระดับสมดุลโดยทั่วไป (General equilibrium position) หมายถึงระดับความหนาแน่นของศัตรูพืชในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของศัตรูพืชจะอยู่ต่ำกว่าระดับที่จะเกิดการระบาด แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมถูกเปลี่ยนแปลงระดับของความสมดุลโดยทั่วไปก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

2) ระดับเศรษฐกิจ (Economic threshold) หมายถึงระดับความหนาแน่นของศัตรูพืชที่เริ่มมีผลก่อความเสียหายให้แก่พืชปลูก และจะต้องเริ่มดำเนินการป้องกันกำจัดเพื่อไม่ให้ความหนาแน่นของศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ ในการใช้วิธีการป้องกันกำจัดมักจะพิจารณาลดความหนาแน่นของศัตรูพืชให้ลงไปอยู่แค่ระดับสมดุลโดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องลดความหนาแน่นของศัตรูพืชจนหมดสิ้นไป

3) ระดับความเสียหายทางเศรษฐกิจ (Economic injury level) หมายถึงระดับความหนาแน่นของศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจ และถ้าระดับความหนาแน่นของศัตรูพืชสูงเกินกว่านี้แล้วก็มักจะสายเกินไปสำหรับการป้องกันกำจัด เพราะอาจต้องลงทุนสูง หรือไม่อาจช่วยเหลือผลผลิตที่เสียหายไปให้กลับคืนมาได้

 

ที่มา

กรีนเนท. (2561, 25 สิงหาคม). การบริหารจัดการศัตรูพืช.  สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2561, จาก http://www.greennet.or.th/article/315

ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2561, 25 สิงหาคม). ศัตรูพืชและการป้องกันกำจัด. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2561, จาก http://natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/book/book%20content.htm/chapter11/Agri_11.htm